ประวัติ
เทศบาลตำบลทากาศ ประกอบด้วย หมู่บ้านหมื่นข้าวหมู่ ชุมชนเกาะทราย, ชุมชนทากาศ และหมู่บ้านแพะริมน้ำ ต.ทาขุมเงิน และมีพื้นที่บางส่วนของ หมู่บ้านศรีป้าน ตำบลทาขุมเงิน และหมู่บ้านทาทุ่งหลวง ต.ทาทุ่งหลวง อยู่ในเขตบริการของเทศบาลตำบลทากาศ
หมู่บ้านหมื่นข้าว มีชื่อหมู่บ้านเดิมว่า บ้านหมื่นเขา เนื่องมาจากก่อนนี้มีสถานที่แห่งหนึ่งอยู่กลางทุ่งนาใกล้กับหมู่บ้าน (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งพระอุโบสถวัดทาหมื่นข้าว) เป็นของชาวลั๊วะ ได้นำเอาทองคำซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเขาวัว หรือเขาควายมาฝังไว้ มีน้ำหนักหมื่นตาชั่งหรือประมาณ 13.50 กิโลกรัม ต่อมามีการขุดค้นหาจากกลุ่มคนหลายคณะ จากคำบอกเล่าไม่อาจทราบได้ว่ากลุ่มคณะผู้ค้นหาทองได้เจอทองหรือไม่ จากสถานที่นี้จึงกลายเป็นชื่อบ้านหมื่นเขา ต่อมาชาวบ้านได้เห็นว่าหมู่บ้านมีพื้นที่ล้อมรอบด้วยทุ่งนา จึงได้เปลี่ยนแปลงชื่อหมู่บ้านเป็น "บ้านหมื่นข้าว" ดังเช่นปัจจุบัน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ จากคำบอกเล่า พบว่าหมู่บ้านเริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ.2350 หรือประมาณ 196 ปี มาแล้ว กลุ่มคนกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่เป็นชาวลั๊วะ ต่อมาชาวบ้านหมู่บ้านใกล้เคียงซึ่งสืบเชื้อสายจากเผ่ายอง ก็เข้ามาอาศัยภายในหมู่บ้าน ภาษาของหมู่บ้านจึงใช้ทั้งภาษาเมืองและภาษายอง
สภาพทางภูมิศาสตร์ของหมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านที่สร้างขนานกับแนวลำน้ำแม่ทา ห่างจากอำเภอไปทางทิศตะวันตกเฉียงใกล้ ประมาณ 15 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 26 กิโลเมตร ในอดีตสภาพหมู่บ้านเป็นพื้นที่ป่า มีถนนลูกรังใช้สัญจร อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก เช่น ทำสวนยาสูบ ถั่วลิสง แต่ก็ต้องเลิกทำในที่สุดเนื่องจากราคาถูก ไม่มีผู้รับซื้อ ประชาชนจึงหันไปประกอบอาชีพแกะสลัก และทำสวนลำไย ตั้งแต่ปี 2528 เศรษฐกิจของหมู่บ้านในปัจจุบัน มีความมั่นคง เนื่องจากประชาชนมีความขยันขันแข็ง และสามัคคี ทำให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสัจจะ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มฉางข้าว ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน เป็นต้น ซึ่งช่วยให้หมู่บ้านมีทุนสำรองหมุนเวียน
การบริหารการปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ปกครอง และคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของหมู่บ้าน อยู่ในเขตบริการของเทศบาลตำบลทากาศ
ภายในหมู่บ้านมีโรงเรียนประถมศึกษา 1 แห่ง ชื่อโรงเรียนบ้านหมื่นข้าว มีวัดหมื่นข้าว เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในหมู่บ้าน ประเพณีหรืองานบุญที่สำคัญมีดังนี้ งานตานข้าวใหม่ ทำบุญประเพณีวันมาฆบูชา งานสงกรานต์ งานวันวิสาขบูชา งานวันเข้าพรรษา ทำบุญสลากภัต งานออกพรรษา งานลอยกระทง
อาณาเขต ทิศเหนือ ติดต่อ ลำน้ำทา
ทิศใต้ ติดต่อ ทุ่งนา
ทิศตะวันออก ติดต่อ ทุ่งนา
ทิศตะวันตก ติดต่อ ทุ่งนา
บ้านเกาะทราย เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่รองมาจากชุมชนทากาศ การตั้งชื่อหมู่บ้านเกิดจากมีพื้นที่ติดกับลำน้ำแม่ทา ในช่วงที่แม่น้ำตื้นเขินและเปลี่ยนทิศประชาชนหมู่บ้านใกล้เคียงได้เคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานนี้ จึงเรียนว่าบ้านเกาะทราย สมัยอดีตถนนสัญจรยังไม่สะดวก มีเพียงทางเท้าที่ชาวอาศัยเดินตามกันมา ทำให้ชาวบ้านเกาะทรายทั้งหมู่บ้าน เดินทางขึ้นดอยเพื่อไปทำบุญวัดดอยคำ ทั้ง ๆ ที่ เลยไปอีก 600 เมตร ก็เป็นวัดทากาศ ทั้งนี้ก็เพราะความสะดวกในการเดินทาง ทำให้ชาวบ้านเกาะทรายมีศรัทธาอันแรงกล้าต่อวัดดอยคำ
ภาษาพูดของชาวเกาะทรายคือภาษาเมือง การเล่าเรียนของคนในหมู่บ้านเดินทางเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดทากาศ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป คนงานโรงงานอุตสาหกรรม การเกษตรทำเพียงปลูกข้าวนาปี เนื่องจากระบบการส่งน้ำยังไม่มี และหาแหล่งน้ำบาดาลยากเนื่องจากพื้นที่แถบนี้เป็นชั้นหิน
อาณาเขต ทิศเหนือ ติดต่อ ลำน้ำทา
ทิศใต้ ติดต่อ บ้านแม่ขนาด
ทิศตะวันออก ติดต่อ บ้านหมื่นข้าว
ทิศตะวันตก ติดต่อ บ้านทากาศ
หมู่บ้านทากาศ เป็นชุมชนเก่าแก่ในบรรดาหมู่บ้าน และชุมชนในเขตเทศบาล โดยมีตำนานเล่าขานปากต่อปากจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่า เมื่อเมืองเชียงใหม่ถูกข้าศึกพม่าโจมตีจนไม่อาจจะต่อต้านป้องกันไว้ได้ ในที่สุดต้องเสียเมืองให้แก่ทัพพม่าเกิดการอพยพของผู้คน ได้มีคณะกลุ่มบุคคลซึ่งนำโดยเจ้ากาบแก้วเป็นหัวหน้า ได้เดินทางหลบหนีไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ ผ่านเมืองหริภุญชัยขึ้นไปตามลำน้ำแม่ทา จนถึงสถานที่แห่งหนึ่งเป็นที่ราบล้อมรอบด้วยภูเขา มีน้ำแม่ทาไหลผ่าน เหมาะที่จะตั้งหลักแหล่ง เจ้ากาบแก้วจึงหยุดเพื่อตั้งหลักทำมาหากินอยู่ที่นั่น
ต่อมาผู้คนทั้งหลายก็เห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะสร้างวัดขึ้น เพื่อบำเพ็ญศาสนกิจอย่างที่เคยทำมาเมื่ออยู่ในเมืองเชียงใหม่ จึงร่วมกันทำพิธีอธิษฐานจิต ขอให้เทพยดาทั้งหลายช่วยชี้แนะสถานที่ ที่เหมาะสมแก่การสร้างวัดขึ้น ในคืนนั้นได้ปรากฏโคอุศุภราชรูปร่างล่ำสันใหญ่โต มาจากไหนไม่มีใครทราบเมื่อปรากฏกายขึ้น ก็ได้เปล่งเสียงร้องดังก้องไปทั่วหมู่บ้าน ร้องพลางเดินพลางและใช้เท้ากาด (คราด) เป็นรอยพร้อมทั้งถ่ายปัสสาวะ และถ่ายมูลเป็นแนวทางไปด้วย
รุ่งเช้าขึ้นมา เจ้ากาบแก้วและคณะก็ได้ออกสำรวจดูพบรองรอยต่างๆ เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก จึงได้พร้อมใจกันก่อกำแพงด้วยอิฐถือดินเหนียวไปตามรอยที่โคอุศุภราชสร้างไว้จนจดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม กฎิ และวิหาร เป็นโรงกะตึกแบบโบราณ ไม่มีหน้าต่าง เมื่อสร้างเสร็จ เจ้ากาบแก้ว และคณะได้ตั้งชื่อวัดนี้ว่า "วัดทากาดแก้วกว้างเมืองทา" ที่ใช้ชื่อเช่นนี้เพราะถือเอานิมิตที่โคอุศุภราชมากาด (คราด) รอยไว้ โดยเอาชื่อสถานที่และชื่อแม่น้ำรวมกัน (ปัจจุบันลำน้ำแม่ทาได้เปลี่ยนทิศเป็นตัดตรงแล้ว) ภายหลังคำว่า "กาด" ถูกเปลี่ยนเป็น "กาศ" เพราะเกรงว่าจะมีคนไม่เข้าใจภาษาโบราณ "กาด" ที่เป็นตลาด และเป็นชื่อชุมชนและกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่สุดในแถบนี้
ในอดีต ประชาชนในบ้านทากาศ ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าวนาปี ปลูกหอมกระเทียม ยาสูบ พืชตระกูลถั่ว ฝ้าย ยามว่างจากการเกษตรก็ออกรับจ้าง หาบข้าวของไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่ต้องการในต่างถิ่น เช่นนำข้าวไปแลกพริกแห้ง เนื้อสัตว์ การสัญจรอาศัยการเดินเท้า มีเพียงผู้มีฐานะเท่านั้นจะมีรถจักรยาน หรือจักรยานยนต์ หากมีความจำเป็นต้องเข้าเมืองต้องเดินเท้าไปขึ้นรถไฟ ณ สถานีรถไฟหนองล่ม ซึ่งมีระยะทาง6 กิโลเมตร การศึกษามีโรงเรียนประถมของชุมชนคือ โรงเรียนวัดทากาศ สอนตั้งแต่ ประถมศึกษาปีที่ 1 - 4 ส่วนการรักษาพยาบาลสมัยนั้นยังไม่มีสถานีอนามัยอย่างเช่นทุกวันนี้ มีเพียงแพทย์อาสาที่อยู่อีกตำบลหนึ่ง ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บมีมาก ในขณะเดียวกันก็ไม่มีการวางแผนครอบครัว ทำให้แต่ละครอบครัวมีลูกหลานจำนวนมาก สังคมเป็นครอบครัวใหญ่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ระบบเครือญาติมีความเหนียวแน่น มีวัดเป็นศูนย์กลางในการประกอบกิจกรรมของหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ปกครอง ความเชื่อด้านจิตวิญญาณของบรรพบุรุษ ทำให้เกิดขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น ด้วยความเชื่อว่าวิญญาณของบรรพบุรุษจะคุ้มครองลูกหลานให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ ตลอดจนมีโชคลาภ ทำให้มีพิธีแสดงความเคารพบรรพบุรุษ เช่น ในช่วงปี๋ใหม่เมือง หรือสงกรานต์ ลูกหลานจะไปรวมกันที่บ้านพ่อหลวงแม่หลวง (ปู่ย่าตายาย) เพื่อทำพิธีรดน้ำดำหัวผีปู่ย่า ในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวก็นำข้าวใหม่ไปถวายพระเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย
ในสมัยต่อมา หมู่บ้านได้เข้าสู่ยุคอุตสหกรรม ประชาชนประกอบอาชีพคนงานในเหมืองแร่ฟูออไรต์ เหมืองแร่นี้ตั้งอยู่ในเขต อบต.ทากาศ เป็นแหล่งงานที่สำคัญสำหรับคนในท้องถิ่น และพื้นที่ต่างอำเภอออกไป ถนนลูกรังสายเล็ก ๆ ถูกเปลี่ยนเป็นถนนลาดยาง ไฟฟ้า และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ได้เข้าสู่ตำบลทากาศ ในขณะนั้นชุมชนทากาศได้รับวัฒนธรรมความเจริญเข้ามาบ้างแล้วมีกิจการค้าขายมากขึ้น เนื่องจากมีคนงานต้องการข้าวของสำหรับอุปโภคบริโภคมากขึ้น ภายหลังเมื่อแร่มีจำนวนน้อยลง บริษัทได้ปิดตัว ทำให้คนงานเหมืองแร่ มีอาชีพรับจ้างทั่วไปเป็นอาชีพหลัก
จนกระทั่งกลุ่มทุนจากต่างประเทศร่วมกับผู้ประกอบการชาวไทยเปิดโรงงานแกะสลักขึ้น ประชาชนจึงเริ่มมีงานทำเป็นหลักแหล่งอีกครั้ง ในช่วงเวลาเดียวกันนี้นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูนก็ได้เริ่มดำเนินการ ด้วยอัตราค่าแรงที่สูงจึงจูงใจให้ประชาชนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น สังคมภายในชุมชน จึงเปลี่ยนไปตามอัตรารายได้ของประชาชน บ้านเรือนที่เคยปลูกสร้างด้วยไม้กลายเป็นบ้านปูน การหุงหาอาหารไม่ได้ทำดังเช่นเคย เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเป็นอาหารจานด่วนตามร้านขายอาหารตามสั่ง เนื่องจากต้องใช้เวลาพักผ่อนอย่างเต็มที่เพื่อทำงานในกะต่อไป การศึกษาของบุตรหลานส่วนใหญ่ยังคงศึกษาในพื้นที่ แต่ก็มีแนวโน้มค่านิยม ที่จะส่งบุตรหลานเข้าศึกษาต่อในตัวเมืองมากขึ้น
เนื่องจากเชื่อว่าคุณภาพการเรียนการสอนในเมืองนั้นดีกว่าในท้องถิ่น ซึ่งปัญหาเล่านี้ได้สร้างปัญหาในหลายพื้นที่ทำให้โรงเรียนประจำหมู่บ้านเล็กๆต้องปิดการเรียนการสอนไปหลายโรงเรียน กระทบต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยเป็นอย่างมาก
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมของชุมชนอีกประการที่สำคัญ คือ การตื่นตัวของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นต่อการเมืองการปกครองท้องถิ่น และระดับชาติ เนื่องมาจากการรับรู้ข่าวจากสื่อต่าง ๆ การเข้ามามีส่วนร่วมในการบริการท้องถิ่นทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้รับผลสำเร็จด้วยดี
อาณาเขต ทิศเหนือ ติดต่อ ถนนหลวงจังหวัด (สายท่าจักร-แม่ทา)
ทิศใต้ ติดต่อ บ้านนาห้า
ทิศตะวันออก ติดต่อ บ้านบ้านเกาะทราย
ทิศตะวันตก ติดต่อ ทุ่งนาและเขตตำบลทาขุมเงิน
บ้านแพะริมน้ำ ในภาษาคำเมือง แพะ แปลว่า ป่า การตั้งชื่อหมู่บ้านจึงมาจาก สภาพภูมิศาสตร์เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำทา จึงได้ชื่อว่าแพะริมน้ำ หมู่บ้านนี้มีลักษณะพิเศษ คืออยู่ในเขตตำบลทาขุมเงินและอยู่ในเขตบริการของเทศบาลตำบลทากาศ จึงทำให้ประชาชนเข้าใจระบบการบริหารงานของเทศบาล อบต. ซึ่งล้วนแต่มีประโยชน์ต่อประชาชน หมู่บ้านแพะริมน้ำเป็นหมู่บ้านที่เกิดขึ้นใหม่ โดยมีประชาชนในหมู่บ้านใกล้เคียงอพยพมาอยู่ เพราะชุมชนขยายตัวมากขึ้นตามความเจริญ
ประชาชนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป คนงานโรงงานอุตสาหกรรม และแกะสลัก ชาวบ้านได้ประกอบกิจกรรมศาสนา ณ วัดทาศรีป้าน และวัดทากาศ ตามเชื่อของบุคคลที่ย้ายมาจากหมู่บ้านข้างเคียง
อาณาเขต ทิศเหนือ ติดต่อ บ้านหนองหมู
ทิศใต้ ติดต่อ ลำน้ำทา
ทิศตะวันออก ติดต่อ บ้านทากาศ
ทิศตะวันตก ติดต่อ บ้านศรีป้าน
ตลาด มีจำนวน 2 แห่ง
1. ตลาดทากาศ โดยมี นางนพมาศ ขัติแก้ว และ นางนพกุล ชัยธีรแกิจ เป็นเจ้าของตลาด ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน
2. ตลาดนัดหนองหมู โดยมี นางผ่องพรรณ วรรณตุง เป็นเจ้าของตลาด ขนาดพื้นที่ 5 ไร่ 2 งาน